ReadyPlanet.com


ความรู้ทั่วไป ไม้ MDF


MDF (Medium Density Fiber Board)

การเพิ่มขึ้นของประชากร และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้มนุษย์ต้องมีการบุกรุกและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างมาก ปริมาณและพื้นที่ป่าไม้ของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง, ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล, ขาดแคลนน้ำ เป็นต้น จากผลดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ป่าขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไม้มิได้ลดลงทำให้เกิดการคิดค้นพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแผ่นไม้เทียม (Composite board) ขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติ ปี ค.ศ. 1960 ไม้ MDF ได้ถูกคิดค้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา และได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 1970-1980 กล่าวกันว่าช่วงดังกล่าวมีการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า หลังจากนั้นไม้ MDF ก็ได้รับการยอมรับในตลาดอื่นๆ ตามมา ทั้งยุโรป, เอเชีย, แอฟาริกา, และปี 2000 มีโรงงานผลิตไม้ MDF ทั้งสิ้น 200 กว่าโรง ทั่วโลก และมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 24 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

สำหรับในประเทศไทย วัสดุที่ใช้ทดแทนไม้อาจจำแนกไม้เป็น 2 ประเภท คือวัสดุที่ทำจากไม้ (Wood -Based) เช่น ไม้อัด, MDF , Particle board และทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น เหล็ก, พลาสติก, อย่างไรก็ตามวัสดุชนิด Wood- Based panel board จะได้รับการยอมรับมากกว่าวัสดุผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น เนื่องจากลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงไม้ธรรมชาติ

วัสดุประเภท Wood-Based panel board หรือแผ่นไม้ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน และสามารถผลิตไม้ในประเทศได้แก่ ไม้อัด, แผ่น Particle , MDF และ Wet Hardboard ไม้อัดเป็นวัสดุทีมีการผลิตในประเทศมากกว่า 20 ปีและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันและอนาคตอาจมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากต้องใช้ไม้ที่มีขนาดใหญ่ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบซึ่งหายากขึ้นรวมทั้งคุณสมบัติหลายๆ ด้านก็ไม่ดีไปกว่าแผ่นไม้ประกอบชนิดอื่นๆ ในช่วงประมาณปี 2523 ได้เกิดมีโรงงาน Particle และในปี 2528 ก็เริ่มมีการสร้างโรงงาน MDF ในประเทศไทย 

ในระยะแรกทั้ง Particle และ MDF ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ ของผู้บริโภคซึ่งยังนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ไม้จากป่า ธรรมชาติซึ่งยังคงหาได้ง่าย แต่ภายหลังการปิดป่าในปี พ.ศ. 2532 เกิดสภาวะขาดแคลนไม้ธรรมชาติ ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบหันมาใช้ MDF และ Particle มากขึ้นทั้ง MDF และ Particle สามารถผลิตได้จากเศษไม้ซึ่งไม่สามารถนำไปทำประโยชน์อื่นได้ เช่น ปลายไม้หรือปีกไม้ ซึ่งได้จากโรงเลื่อย รวมทั้งไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิต แผ่นเยื่อกระดาษได้ อย่างไรก็ดี MDF สามารถนำไปใช้งานได้กว้างกว่า Particle มีความแข็งแรงมากกว่าสามารถตัดแต่งขอบได้ แกะสลักได้ และยังเป็นไม้สังเคราะห์ชนิดเดียวที่มีเนื้อไม้ประสานตัวเป็นเนื้อเดียวกัน นอกจากนั้น ยังสามารถทำเป็นไม้ได้ถึง 2.6 mm. อีกด้วย

คุณสมบัติของไม้ MDF

ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) หรือเรียกว่าแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Composite Panel ชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเส้นใยของไม้หรือพืชที่มีเส้นใย หรือเส้นใยของวัสดุลิกโนเซลลูโลส (Lignocelluloses Material) วัตถุดิบที่ใช้ ยูคาลิปตัส ยางพารา ฯลฯ นำมาผสมกับกาวสังเคราะห์ แล้วจึงอัดเป็นแผ่นโดยกรรมวิธีแห้ง คืออัดด้วยความร้อน (Dry Process) เพื่อให้เกิดความยึดเหนี่ยวระหว่างเส้นใยจนเป็นเนื้อเดียวกันโดยมีกาวเป็นตัวช่วยประสาน โดยมีความหนาแน่นสูง มีผิวเนื้อในละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั่วทั้งแผ่น มีความหนา ความแน่น และความเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น สามารถขูดแต่งเนื้อไม้ได้เรียบเนียน งานที่ออกมาจึงดูเรียบร้อยไม่เป็นขุย สามารถนำมาพ่นสีในเนื้อไม้ได้สวยงาม

ประเภทและการใช้ประโยชน์ ไม้ MDF 

แผ่น MDF มีความได้เปรียบแผ่นไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากสามารถนำไปประยุกต์กับการใช้งานได้เกือบทุกประเภท ด้วยคุณสมบัติที่มีความแข็งแรงสูงและความเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั่วทั้งแผ่น และถ้าแบ่งตามลักษณะคุณสมบัติ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

1. ชนิดความหนาแน่นสูง โดยมากนิยมใช้ทำพื้นอาคาร, บ้านเรือน, นำไปปิดผิว พ่นสี ให้ดูดียิ่งขึ้น
2. ชนิดความหนาแน่นปานกลาง นิยมใช้ในอุตสาหกรรมตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งงานแกะสลักได้เกือบทุกชนิด
3. ชนิดความหนาแน่นต่ำ ปัจจุบันเริ่มมีใช้แพร่หลายทางยุโรป และอเมริกา นิยมใช้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ Knock-down

 

 

ที่มา : http://www.tbrplywood.com/index.php/2012-09-07-06-08-36/83-mdf



ผู้ตั้งกระทู้ พีบี เฟอร์นิเจอรื (pbe_furniture-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2013-11-09 12:20:47


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0735560004981 Copyright © 2010 All Rights Reserved.